วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ทดลองขับ Chevrolet COLORADO (X-Cab 2.8 LTZ Z71 4x4 6AT)






ช่วงกลางเดือนตุลาคมปีนี้ เป็นเดือนที่ชีวิตของผม ลดทอนทุกความโกลาหลจากช่วงต้นเดือน ลงไปได้เยอะเพื่อเตรียมพร้อมรับสภาพอุทกภัยครั้งที่อาจจะเรียกได้ว่า มโหฬารมากที่สุด ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสยามประเทศ


จาก จังหวัดตาก สายน้ำอันเชี่ยวกราก ไหลลงมาอย่างต่อเนื่อง เข้าท่วมพื้นที่ของหลายจังหวัด ที่โดนหนักสุดหนีไม่พ้น พระนครศรีอยุธยา และนครสวรรค์ ขณะที่ชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็เริ่มหวั่นๆ โดยเฉพาะย่านรังสิต ที่เริ่มหวาดเสียวกว่าใคร


แต่จะว่าไปแล้ว เดือนนี้ แอบเป็นเดือนที่ผมโชคดีกว่าปกตินิดหน่อย ตรงที่จะได้เป็นสื่อมวลชนรายแรกในโลกที่มีโอกาสทดลองขับ พาหนะ รุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งถูกออกแบบมา ให้เหมาะสมกับการใช้งานในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานนี้เป็นที่สุด


เสียอย่างเดียว...ผมไม่ได้เป็นเจ้าของรถคันนี้...

ในที่สุด การรอคอยของทั้งชาว GM Thailand และลูกค้าอีกจำนวนไม่น้อย ก็จบสิ้นสุดลงเมื่อขบวนรถกระบะรุ่นใหม่ล่าสุด ผลผลิตจากความเหนื่อยยากแสนสาหัส พุ่งตัวออกมาจากหลังเวที คันแล้วคันเล่า วิ่งลงไปลุยในทุ่งข้าวโพด และลุยฝนตก กับดินโคลนจำลอง ไปจอดสงบนิ่ง สู่สายตาชาวไทย และคนทั้งโลก รวมถึงแขก VIP ระดับ เอกอัคราชฑูตสหรัฐฯ ผู้น่ารัก อย่างคุณคริสตี เคนนีย์ ปิดท้ายด้วย พรีเซ็นเตอร์ในภาพยนตร์โฆษณาของรถรุ่นนี้ คุณ ปอ ทฤษฏี นักแสดงชื่อดังจากช่อง 3 ขับรถคันสุดท้ายในขบวน ขึ้นมาจอดอวดโฉมบนเวที ขนาดยักษ์ ด้วยตัวเอง ทั้งหมดที่ร่ายมาให้อ่านนี้ คือสิ่งที่ GM Thailand เนรมิตให้เกิดขึ้นในงานเปิดตัว Chevrolet Colorado ใหม่ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2011 ณ BITEC สี่แยกบางนา

หลังการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ เป็นธรรมเนียมที่จะต้องมีการจัดกิจกรรมทดลองขับ สำหรับกลุ่มสื่อมวลชน ครั้งนี้ก็เช่นกัน ทาง GM เขาชวนผมไปร่วมทริปทดลองขับ Colorado ใหม่ กันไกลถึงจังหวัดเชียงราย ในวันที่ 17 - 18 ตุลาคม 2011 แต่อย่างไรก็ตาม คุณๆก็คงพอจะทราบดัอยู่ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ถือเป็นช่วงที่ผมต้องระวังเป็นพิเศษ ในฐานะที่มีนิวาสถานอยู่ในย่านบางนา ซึ่งมักเจอปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ผมเลยเลือกจะขอไม่เข้าร่วมในทริปนี้ ด้วยเหตุผลเดียวนั่นคือ "เป็นห่วงบ้าน" อยากเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำ ที่อาจจะเข้าท่วมบ้านเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีใครรู้

ก็เลยต้องขอรบกวนทาง General Motors Thailand นั่นละครับ ว่าพอจะเป็นไปได้ไหม สำหรับการจัดหารถ Demo สัก 1 คัน มาให้ผมทดลองขับ บนเส้นทางละแวกบ้าน เผื่อว่า เกิดฝนเทกระหน่ำโครมลงมา ผมจะได้รีบวิ่งเข้าบ้าน ไปจัดการขนย้ายข้าวของได้ทัน 

สุดท้าย ราวๆ บ่ายวันที่ 18 ตุลาคม นั่นละครับ ผมก็ได้มีโอกาสทดลองขับรถคันนี้ ที่ย่านใกล้บ้าน คิดว่าน่าจะพร้อมๆกับสื่อมวลชน คนอื่นๆ ในบ้านเรา ซึ่งบินไปลองขับกันไกลถึงเชียงราย ถือว่า GM ก็คงโล่งอกโล่งใจไปเปลาะใหญ่ หลังจากหวาดหวั่นวิตก ลุ้นระทึกว่าจะสามารถขนส่งรถ Colorado ใหม่ ทั้ง 32 คัน ขึ้นไปถึงเชียงรายได้หรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุด ด้วยความช่วยเหลือจากคุณพีท ทองเจือ และบริษัทขนส่งที่เกี่ยวข้อง ก็ช่วยให้ภาระกิจนี้ ลุล่วงไปด้วยดี โดยไม่ต้องเลื่อน หรือยกเลิกงานทดลองขับในครั้งนี้ไปแต่อย่างใด

แหงละ แบรนด์ Chevrolet อุตส่าห์ ยืนหยัดอยู่คู่โลกมาได้ตั้ง 100 ปี กะอีแค่น้ำท่วมบ้านเราแค่นี้ (มิดหลังคาบ้าน) ถ้าคนของ GM จะเอาชนะอุปสรรคแบบนี้ไม่ได้ ก็ให้มันรู้กันไปละวะ!

อันที่จริง ถ้าย้อนกลับไปดูพงศาวดารวงการยานยนต์เมืองไทย แบรนด์ Chevrolet เอง ก็เคยเผชิญวิบากกรรมในบ้านเรา หนักหนากว่านี้มาแล้ว เมื่อราวๆ 30 กว่าปีก่อน เพียงแต่ว่า ผู้คนในยุคนี้ สักกี่คน ที่ยังจำภาพและเรื่องราวเหล่านั้นได้?
แม้ในอดีต รถยนต์ Chevrolet จะถูกนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา มาขายถึงเมืองไทย มาตั้งแต่สมัยหลังแรกเริ่มมีรถยนต์ในสยามได้ไม่นานนัก งต่อมา General Motors ได้เริ่มตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ ที่ อ.บางชัน จังหวัดมีนบุรี เมื่อเดือนมีนาคม 1972 ต่อมาได้ตั้งสำนักงานขึ้น ที่อาคาร เอสโซ่ ถนนพระราม 4  (ปัจจุบันกลายเป็นโชว์รูม Mazda ลุมพินี พระราม 4)

ในสมัยนั้น GM ก็เคยนำรถกระบะ Chevrolet มาจำหน่ายในบ้านเราเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อ Chevrolet LUV ช่วงปี 1972 ซึ่งมันก็คือ Isuzu Faster รุ่นแรกนั่นแหละ เป็นรถกระบะที่ GM กับ Isuzu ทำข้อตกลงร่วมกันผลิตรถกระบะระดับ Mid-Size Truck กันในปี 1970 และเริ่มออกสู่ตลาดครั้งแรก ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1972 ก่อนจะเปิดตัวในบ้านเรา ราวๆ ปี 1974 ร่วมกับสารพัดรถยนต์ยี่ห้อ และรุ่นต่างๆ ในเครือของ GM นั่นเอง

แต่ด้วยอุปสรรคทั้ง จากวิกฤติการณ์ต่างๆ ทั่วโลก ณ เวลานั้น รวมถึง สถานการณ์ยอดขายในเมืองไทยที่ไม่สู้ดีเอาเสียเลย ทำให้ GM ต้องพักบทบาท ตัดสินใจโอนการทำตลาด ให้กับกลุ่ม พระนครยนตรการ เป็นผู้แทนจำหน่ายในยุคนั้นไปนานหลายปี

จนกระทั่ง GM คิดว่า เมืองไทย เริ่มมีศักยภาพน่าจับตามอง พวกเขาจึงตัดสินใจกลับมาตั้งบริษัท GM Thailand อีกครั้ง เมื่อปี 1993 ตามด้วยการสร้างโรงงานใหม่ที่จังหวัดระยอง ช่วงปลายปี 1996 ใช้เวลาผ่านช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในบ้านเรา จนพร้อมเปิดตัว Chevrolet Zafira รถยนต์ Chevy ยุคใหม่คันแรก ที่กลับมาผลิตในเมืองไทย ณ งาน B.O.I Fair เดือนกุมภาพันธ์ 2000 สิ่งที่ GM คิดอยู่ในใจมาตลอดก็คือ จะต้องหาทางร่วมแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดรถกระบะขนาดกลาง (Mid-Size PickUp Truck) อันหอมหวลชวนลิ้มรส ให้จงได้
เดือนมีนาคม 2004 GM Thailand ก็สร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการ เปิดตัว Chevroldet Colorado รุ่นแรก ออกสู่ตลาดเมืองไทยได้เป็นผลสำเร็จ ผมยังจำได้เลยว่า การจัดงานในเปิดตัวนั้น ยิ่งใหญ่ และอลังการที่สุดงานหนึ่งเท่าที่เราคนไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ เคยเห็นกันมา ตั้งแต่การจัดงานเปิดตัวที่ท BEC Tero Hall (ปัจจุบัน รื้อราบเป็นหน้ากลองไปหมดแล้ว) จนถึงการจัดทริปทดลองขับ สำหรับสื่อมวลชน เนรมิต พื้นที่เขาบาล ริมถนนทางหลวงมอเตอร์เวย์ ย่านชลบุรี ให้กลายเป็นรีสอร์ตหรูชั้นเยี่ยม ใช้งานแค่วันเดียวแล้วรื้อทิ้ง ด้วยงบประมาณ เหยียบ 10 ล้านบาท! รวมถึงการจัดงานเปิดตัวและทดลองขับ เจ้า
Colorado รุ่น 3.0 TD Common Rail ที่ถึงขั้นอลังการยิ่งกว่า ด้วยการปิดสนามบินเพชรบูรณ์ เนรมิตให้กลายเป็น Colorado Airport ถือเป็นทริป เปิดตัว และทดลองขับรอบเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ใน 1 วัน ที่ยิ่งใหญ่เกินจินตนาการ และทำเอาทั้งนักข่าว และคนจัดเอง หลายๆคน เหน็ดเหนื่อยล้มหมอนนอนบนเที่ยวบินขากลับ ไปตามๆกัน

แต่ถ้าถามว่า ยอดขายที่แลกมา คุ้มกันหรือไม่ คำตอบก็คือ ผมไม่แน่ใจจริงๆ เพราะที่ผ่านมา Colorado มียอดขายอยู่ในกลุ่มท้ายตาราง ในประเภทรถกระบะมาโดยตลอด ต่อให้ปรับโฉม Minorchange ใบหน้าให้มนกว่าเดิมในปี 2008 ก็มิได้ทำให้ยอดขายกระเตื้องไปเท่าไหร่ แถมยังขายได้ไม่ถึงกับดีนัก ก็แน่ละ ในเมื่อรถรุ่นแรกนั้นยังคงต้องร่วมกันพัฒนากับพันธมิตรคู่ค้าเก่าแก่อย่าง Isuzu Motor ในฐานะฝาแฝดของ Isuzu D-Max รุ่นแรกกันมากโขอยู่ และใช้ชิ้นส่วนที่แตกต่างกันเพียงแค่ 300 ชิ้นเท่านั้น แถมยังใช้เครื่องยนต์ร่วมกันอีกด้วย ลูกค้าก็เลยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน กลุ่มทั่วไป ก็จะเลือกใช้ Isuzu ด้วยชื่อที่คุ้นหูคุ้นตามานานกว่า ขณะที่ลูกค้ากลุ่มซึ่งชอบการใช้ชีวิตแนวอเมริกัน หรือกลุ่มข้าราชการบางส่วน จะเลือก Colorado เพราะค่างวดในการผ่อน อยู่ในเกณฑ์ที่พวกเขายอมรับได้มากกว่า แน่นอน ลูกค้าในกลุ่มหลังนี้ มีไม่มากพอเมื่อเทียบกับ Isuzu
  GM เลยตัดสินใจ ขอแก้มืออีกครั้ง ด้วยการทุ่มงบลงทุนกว่า 60,000 ล้านบาท หรือ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พัฒนา Colorado ใหม่ ภายใต้รหัสโครงการ GMI700 ในเวลา 5 ปี และใช้ทีมงานของ GM ทำงานร่วมกันมากถึง 5 ทวีป เพื่อตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้ามากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก โดยรถต้นแบบทั้งหมดต้องผ่านการทดสอบ กันมากกว่า 2.5 ล้านกิโลเมตร ตลอดกระบวนการพัฒนา ทั้งหมดนี้ ถือได้ว่า GMI700 เป็นโครงการพัฒนารถกระบะขนาดกลางครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 100 ปีของแบรนด์ Chevrolet เลยทีเดียว จึงไม่น่าแปลกใจที่ GM จะกล้าเคลมว่า นี่คือรถกระบะรุ่นใหม่ที่มาพร้อมการออกแบบที่โดดเด่นที่สุด แข็งแกร่งที่สุด และทรงพลังที่สุด ในประวัติศาสตร์ของพวกเขา 

ถึงแม้จะยังร่วมมือกับ Isuzu ในการพัฒนารถรุ่นนี้ก็ตาม แต่ก็มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาจากวงการผู้ผลิตชิ้นส่วนถึงความไม่ลงรอยกันของทั้ง Isuzu และ GM ค่อนข้างรุนแรงอยู่ นั่นจึงทำให้ GM ตัดสินใจเลือกทางเดินของตัวเอง เพื่อสร้างความแตกต่างให้ Colorado มีบุคลิกเฉพาะตัวที่เด่นชัดมากขึ้น แถมที่สำคัญก็คือ ยังใช้เครื่องยนต์ กับชิ้นส่วนต่างๆ ๆไม่เหมือนกับ Isuzu เยอะกว่ารุ่นก่อนอีกด้วย

พวกเขาจะทำได้ดีหรือไม่? แค่ไหน อย่างไร? การทดลองขับรถคันนี้เพียง 2 ชั่วโมง บนเส้นทางที่คุ้นเคย ก็มากพอที่จะบอกผมได้คร่าวๆ แล้วละว่า มันแตกต่างไปจากเดิมอย่างชัดเจน
รถรุ่นที่ทาง GM จัดมาให้ลองขับกันนั้น เป็น Colorado รุ่น X-Cab 2.8 LTZ Z71 4x4 6AT อันถือเป็นรุ่นท็อปที่แพงสุดในกลุ่มตัวถัง X-Cab แต่ถ้าดูจากตารางรายละเอียดทางเทคนิค ของแค็ตตาล็อกเล่มใหญ่ คุณอาจสงสัยว่า มันมีด้วยเหรอ? ผมเองก็งงเหมือนกัน เพราะในตารางท้ายเล่ม ไม่ได้ระบุข้อมูลของรถรุ่นท็อปนี้ไว้

ฝ่ายการตลาดของ GM Thailand เฉลยข้อสงสัยของผมว่า ในช่วงก่อนเปิดตัว GM จะแจ้งให้กับผู้จำหน่ายทั่วประเทศได้สั่งรถรุ่นใหม่ ล่วงหน้า 1 เดือนเศษๆ เพื่อนำไปจัดแสดง และเป็นรถทดลองขับในโชว์รูมของตน ทว่า ด้วยค่าตัวของมัน แพง จนทำให้การตัดสินใจซื้อรุ่น Crew-Cab 4 ประตู อาจดูคุ้มค่ากว่านี่เอง ทำให้ดีลเลอร์ทั่วประเทศ ไม่มีใครกล้าสั่งรถรุ่นย่อยที่ว่านี้ มาขายกันเลย ส่งผลให้ ทีมการตลาดของ GM Thailand ต้องตัดใจ ตัดรุ่นย่อยนี้ ทิ้งไป ไม่ทำตลาดจริงในนาทีสุดท้ายก่อนเปิดตัว ดังนั้น หากใครสนใจอยากสั่งซื้อ ก็ทำได้ เพราะในกระบวนการผลิตแล้ว สามารถประกอบใส่กันได้เลย เพียงแต่อาจต้องรอรถ
นานถึง 2-3 เดือน เพื่อให้ทางโรงงาน จัดการกับยอดสั่งจอง ของรถรุ่นที่ขายดีกว่านี้ ให้หมดเสียก่อน จึงจะเริ่มขั้นตอนการสั่งชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับรถรุ่นท็อปให้กับคุณผู้อ่าน ก็เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดทางวิศวกรรมต่างๆนั้น ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากรุ่นย่อยอื่นๆ เท่าใดเลย ยกสลับสับเปลี่ยนมาใช้ร่วมกันได้แทบจะทั้งสิ้น ดังนั้น ข้อมูลในบทความนี้ จึงสามารถอ้างอิงกับรถรุ่น 2.8 ลิตร ที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ รุ่นอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน

หลายๆคนอาจมองว่า จริงๆแล้ว มันก็คือการเอา Isuzu D-Max ทั้งรุ่นก่อน และรุ่นใหม่หมดล่าสุดนี้ มาปรับงานออกแบบให้เป็นเอกลักษณ์ของ แบรนด์ Chevrolet เอง นี่หว่า!

คุณจะมองแบบนั้นก็ได้ครับ เพราะหลายๆคนคุ้นชินกับรถกระบะพะแบรนด์ Isuzu ในบ้านเรามานานกว่า 40 ปี เพียงแต่ว่าในความเป็นจริง GM กับ Isuzu Motot Co.,ltd. ต่างลงนามในข้อตกลงการพัฒนารถกระบะร่วมกัน ตั้งแต่ ปี 1970 แล้ว นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไม รถกระบะ Isuzu ที่คนไทยคุ้นเคย ในต่างประเทศจะถูกทำตลาดด้วยชื่อ Chevrolet LUV หรือ Colorado หรือแม้แต่ LUV D-Max บ้างละ

แต่ในรถรุ่นใหม่ ทั้งคู่ ต่างพยายามสลัดภาพของกันและกันออกไปให้พ้นๆจากปกเสื้อ แม้ว่าจะลบภาพออกไปได้ไม่ถึงกับหมดก็ตาม แต่ก็ต้องถือว่า Colorado และ D-Max ใหม่ มีความแตกต่างกันอยู่หลายอย่าง

แตกต่างอย่างไร? ไปดูกัน!
รถรุ่นแรกที่ออกสู่ตลาดในช่วงแรกที่เปิดตัวนี้ คือตัวถัง X-Cab หรือ Extendes-Cab มีความยาวตัวถังจากหน้าจรดหลัง 5,347 มิลลิเมตร กว้าง 1,882 มิลลิเมตร ส่วนความสูงนั้น ถ้าเป็นรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง แบบมาตรฐาน จะสูงระดับ 1,697 - 1,699 มิลลิเมตร แต่ถ้าเป็นรุ่นยกสูง Z71 และ 4x4 จะสูงขึ้นเป็น 1,778 - 1,785 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 3,096 มิลลิเมตร

เส้นสายภายนอกของ Colorado ใหม่ เป็นผลงานของศูนย์การออกแบบ Advanced Design Center ของ GM ในนคร Sao Paolo ประเทศ Brazil และถ้าพูดกันตามตรง พวกเขานำงานออกแบบของรถรุ่นจำหน่ายจริง ไปปรับปรุง ให้กลายเป็น Chevrolet Colorado Show Truck ที่เคยเปิดตัวในเมืองไทยอย่างยิ่งใหญ่ ปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา รวมถึง อาร์เจนติน่า ออสเตรเลีย และเยอรมนีตลอดทั้งปีที่ผ่านมานี้ พวกเขาใช้ประสบการณ์ในการผลิตรถกระบะเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแต่ละประเทศ ซึ่งรวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา Colorado ใหม่ วิศวกรจำนวนไม่น้อย ถึงขั้น เดินทางมาพักอาศัยในประเทศไทยตลอดช่วงเวลาในการพัฒนารถรุ่นใหม่นี้ และเฝ้าสังเกตการณ์รูปแบบการขับขี่ใช้งานอันหลากหลายของคนไทย เพื่อเข้าถึงตลาดรถกระบะเมืองไทยที่มีการแข่งขันสูงมาก 

ภายนอก ชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้าทั้งหมด ตั้งแต่เปลือกกันชนหน้า จนถึงเปลือกตัวถังซุ้มล้อทั้ง 2 ฝั่งและแผ่นตัวถังของกระบะหลัง ฝั่งซ้ายและขวา กับฝากระบะหลัง เป็นชิ้นส่วนที่ถูกออกแบบให้แตกต่างไปจาก isuzu D-Max ใหม่
รุ่น X-Cab ของ Colorado ถูกออกแบบให้มีแต่ตัวถังแบบ บานแค็บเปิดได้ โดยมีการเสริมโครงสร้างให้แข็งแกร่ง รองรับการชนจากด้านข้าง และนอกจากนี้ ยังออกแบบให้มือจับเปิดบานแค็บ ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งสะดวกสำหรับผู้โดยสารที่นั่งอยู่ภายในรถ และจะเปิดบานแค็บออกมา แถมด้วยการออกแบบที่วางแขน และช่องวางของเล็กๆ ที่แผงด้านในของบานแค็บ ไว้รองรับอีกด้วยการตกแต่งภายใน ใช้โทนสี เทา ตัดกับสีเบจ
ตำแหน่งการวางแขน บนแผงประตูนั้น ถ้าคุณนั่งอยู่บนเบาะคนขับ และปรับเบาะลงต่ำสุด คุณจะวางแขนมาได้สบายๆ แต่ถ้าเป็นฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย ซึ่งไม่สามารถปรับเบาะได้มากไปกว่าการเลื่อนขึ้นหน้า - ถอยหลัง และปรับเอนพนักพิงหลัง ตำแหน่งวางแขน อาจจะเตี้ยไปนิดเดียว
เบาะนั่งคู่หน้า ออกแบบมาเผื่อเอาไว้ให้กับผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะคนที่มีรูปร่างใหญ่โตกว่าผมเพราะแม้จะนั่งไดสบายๆ แต่ปีกด้านข้าง อาจจะถูกออกแบบมารองรับคนที่อ้วนกว่าผม เลยอาจทำให้แผ่นหลังออกแนวโล่งๆนิดหน่อย แม้ว่าพนักพิงหลังจะมีพื้นที่ขึ้นมาถึงไหล่ แต่ไม่มีการออกแบบเพื่อรองรับบริเวณหัวไหล่เลย ส่วนเบาะรองนั่งนั้น ไม่ใช่ปัญหาของ Colorado ใหม่เลยแม้แต่น้อย ความยาวอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ รองรับต้นขาได้ดี ฟองน้ำของชุดเบาะ มีส่วนช่วยดูดซับแรงสะเทือน จากพื้นถนน ซึ่งถูกส่งขึ้นมาโดยระบบกันสะเทือนอยู่ไม่น้อย ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ หายห่วง รถใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น สูงขึ้น ห้องโดยสารก็นั่งสบายขึ้นไปอีก เพียงแต่ว่าขอบกระจกด้านบน ออกแบบมาให้ บังแสงแดด ที่จะโดนมือขณะจับพวงมาลัย ดังนั้น คงต้องแลกกับการที่ ความสูงของกระจกบังลมหน้า จะเตี้ยแบบรถสปอร์ตนิดนึง และพื้นที่ของกระจกบังลมหน้า จะถูกบีบลงมานิดนึง ไม่ได้โปร่งแบบรถกระบะสมัยก่อนนะครับ ต้องทำใจนะ และจะเป็นแบบนี้เหมือนกันทั้ง Colorado หรือ New D-Max ใหม่ ก็ตาม

วัสดุที่หุ้มเบาะ เป็นผ้ากำมะหยี่ อย่างดี ให้ผิวสัมผัสดุจรถเก๋งชั้นดี แต่แน่นอนว่า โอกาสเสี่ยง
จะเลอะเทอะเปรอะเปื้อนง่าย ก็ย่อมเพิ่มขึ้น ดังนั้น ใช้ความระมัดระวังนิดนึงนะครับ

พื้นที่วางของบริเวณด้านหลังเบาะคู่หน้า  กว้าง แต่ความยาว อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพราะมี
ข้อกฎหมายจำกัดเอาไว้ ให้รถกระบะทุกรุ่นในบ้านเราต้องทำตาม ผมลองขึ้นไปนั่งดู ก็พอจะ
รู้ดีว่า นั่นไม่ใช่ที่นั่งของผมแน่ๆ พื้นที่รองนั่ง มีช่องเปิดเก็บของจุกจิกทั้ง 2 ฝั่ง และดูเหมือน
มีการออกแบบพนักพิงหลังแบบยาว ติดตั้งมาให้แล้วในตัวเสร็จสรรพ 
แผงหน้าปัด เป็นแบบ Dual Cockpit  เช่นเดียวกับ Chevrolet รุ่นใหม่ๆทุกรุ่น แม้ว่าแผงหน้าปัดทั้งชิ้นรวมทั้งช่องแอร์ จะยกมาถอดสลับสับกันใส่กับ Isuzu D-Max ใหม่ได้เลยทีเดียว  แต่ความแตกต่างหลักๆ มีด้วยกัน 3 จุด ได้แก่ พวงมาลัยแบบ 3 ก้าน สไตล์สปอร์ต กระชับมือ เปลี่ยนมาติดโลโก้โบว์ไท ในรุ่น X-Cab 2.5 LTZ,2.8 LTZ , 2.8 LTZ Z71 ขับสองยกสูง และ 2.8 LTZ Z71 4x4 พวงมาลัยจะมีสวิชต์ควบคุมเครื่องเสียงมาให้ พวงมาลัยของทุกรุ่น ปรับระดับ สูง - ต่ำได้ แต่ปรับระยะ ใกล้ - ห่างจากตัวผู้ขับขี่ไม่ได้ 
ชุดมาตรวัดเป็นแบบ 2 ช่อง คืออีกจุดหนึ่งซึ่งแตกต่างจาก New D-Max ทีมออกแบบเล่าว่า ได้แรงบันดาลใจจาก ชุดมาตรวัดของ รถยนต์ Coupe 2 ประตู แนว Muscle Car กลับมาเกิดใหม่ Chevolet Camaro รุ่นปี 2010 นี่เอง แต่พอดูดีๆ จะพบว่า นอกจากจะมีหน้าตาคล้ายกับ ชุดมาตรวัดของ Mitsubishi Pajero รุ่นปี 1982-1990 แล้ว  ฟอนท์ตัวเลข ยังมีขนาดเล็กไปหน่อย แม้จะใช้แสงสีฟ้าแบบเดียวกับ Cruze เป๊ะ แต่การขับกลางคืน ทางไกล ต้องลดสายตา ลงมาเพ่งที่มาตรวัด นานอยู่เหมือนกัน  กว่าจะรับรู้ข้อมูล และกลับไปใส่ใจกับถนน

หน้าจอตรงกลาง เป็นแบบ Multi information Display ที่ Chevy เรียกว่า DIC (Data Information Center) เพื่อแสดงข้อมูล ความเร็วเป็นตัวเลข อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่างๆ ระยะทางที่น้ำมันในถังเหลือพอให้แล่นต่อความเร็วเฉลี่ย ฯลฯ แสดงผลเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น 
ชุดเครื่องเสียง จะเป็นแบบ Built-in ที่ถูกออกแบบให้สอดรับกับชุดแผงหน้าปัดทั้งหมด ประกอบด้วย วิทยุ AM/FM เครื่องเล่น CD/MP3 พร้อมช่องเสียบ USB และ AUX เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในเกือบทุกรุ่นย่อย คุณภาพเสียงถือว่าใช้ได้เลย ถ้าคิดว่าต้องแข่งกับรถกระบะด้วยกัน การปรับเสียง Bass ให้ใช้แค่เบอร์ 2 หรือ 3 ก็พอ แต่ถ้าเสียงใส Trebal ก็คงต้องดันขึ้นไปเบอร์ 4 หรือ 5 ถึงจะลงตัวพอรับฟังให้เสนาะโสตได้ เหนือขึ้นไป สวิชต์ไฟฉุกเฉินอยู่ในตำแหน่งใช้งานง่าย และมีช่องเก็บของจุกจิก พร้อมฝาปิดมาให้
เครื่องปรับอากาศ ในรุ่นปกติ เป็นแบบสวิชต์วงกลมมือหมุน 3 ชิ้น แต่เครื่องปรับอากาศแบบ Digital จะมีมาให้เฉพาะ รุ่นยกสูง 2.8 LTZ Z71 ทั้งแบบ 4x2 และ 4x4 เท่านั้น ใช้โทนแสงสีฟ้า Ice Blue เหมือน Chevrolet Cruze สองสว่างสวยงามยามค่ำคืน
กระบะหลัง มีความยาววัดจากภายนก 1,795 มิลลิเมตร กว้าง 1,534 มิลลิเมตร สิ่งที่อยากให้คุณสังเกตคือพื้นกระบะหลังที่ออกแบบให้มีรอยเชื่อมต่อ ติดยึดที่เรียบเนียน ไม่เหมือนรถกระบะที่เราเคยเจอมา การประกอบในภาพรวม ต้องถือว่าทำได้ดีมากๆในภาพรวม อาจมีบางจุดที่ยังต้องปรับปรุงอยู่ เช่นการเก็บรายละเอียดรอยต่อแผงประตูด้านในนิดหน่อย ให้มีช่องไฟลดลงกว่านี้เท่านั้นเอง
แม้ว่า Colorado ใหม่ เวอร์ชันไทย จะมีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 ขนาด แต่ก็ต้องถือว่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1972 ที่ GM ตัดสินใจ ไม่ใช้เครื่องยนต์ร่วมกันกับ Isuzu อีกต่อไป พวกเขาเลือกพัฒนาเครื่องยนต์ร่วมกับ V.M Motori บริษัทผลิตเครื่องยนต์ชั้นนำจากอินตาลี ที่ GM ไปซื้อกิจการเข้ามาไว้ในช่วงหลายปีก่อน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท GM Powertrain ในปัจจุบัน เท่ากับว่า Colorado ใหม่ ใช้เครื่องยนต์ใหม่ของตนเอง แตกต่างจาก Isuzu D-Max

เครื่องยนต์ตระกูลใหม่นี้ เรียกว่า DURAMAX เป็นขุมพลังสำหรับรถกระบะ ขนาดกลาง ขับเคลื่อนล้อหลัง หรือ 4 ล้อ ในรุ่นมาตรฐานจะเป็นรหัส XLD25 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,449 ซีซี ความกว้างกระบอกสูบ x ช่วงชัก 92 x 94 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 16.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบรางหัวฉีด Common Rail จาก Bosch อัดอากาศด้วย Turbo แบบไม่มีครีบแปรผัน มี Intercooler กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 3,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร (35.7 กก.-ม.) ที่  2,000 รอบ/นาที มีเฉพาะ เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ 

แต่ในรถคันที่เราลองขับกันคราวนี้ วางเครื่องยนต์ใหม่ รหัส  XLD28 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,776 ซีซี ความกว้างกระบอกสูบ x ช่วงชัก 94 x 100 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 16.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยชุดรางหัวฉีด Common Rail ของ Bosch พร้อมระบบอัดอากาศ Turbo แบบมีครีบแปรผัน และมี Intercooler ช่วยลดความร้อนของไอดี ก่อนส่งเข้าสู่ห้องเผาไหม้

กำลังสูงสุดมากถึง 180 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที แต่แรงบิดสูงสุด มี 2 ระดับ หากเป็นรุ่นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ แรงบิดสูงสุดจะสูงถึง 440 นิวตันเมตร (44.9 กก.-ม.ที่ 2,000 รอบ/นาที แต่ถ้าคิดว่านั้นคือที่สุดแล้ว บอกได้เลยว่า ยังครับ ดูแรงบิดของรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะเสียก่อน เพราะมันมากมหาศาลถึง 470 นิวตันเมตร (47.9 กก.-ม.) ที่ 2,000 รอบ/นาที มีให้เลือกทั้งรุ่น ขับเคลื่อนล้อหลัง และขับเคลื่อนสี่ล้อ
คันที่เราลองขับ ติดตั้งเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อมโหมดบวก-ลบ มาให้เปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ได้ในขณะขับขี่ ส่วนระบบขับเคลื่อน 4 ล้อนั้น เป็นแบบ Part-Time ไม่ตลอดเวลา ควบคุมด้วยสวิชต์ไฟฟ้า แบบหมุนเลือกเอาได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นแบบ 2H สำหรับการขับขี่ปกติทั่วไป 4Hi สำหรับการขับขี่ด้วยความเร็วสูง บนพื้นถนนลื่น ที่ต้องใช้ความแม่นยำในการยึดเกาะสูง และ 4Lo สำหรับการเอาตัวรอดจากสภาพพื้นถนนที่ทุระกันดาร

ถ้าคุณสังเกตดีๆจะพบว่า ล้อหลัง ของรถในภาพนี้ มีความสกปรกแตกต่างกัน เหตุผล ก็...นั่นละครับ ผมเองมีโอกาสลองใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ อยู่ครั้่งหนึ่ง เพราะระหว่างถายรูปบนพื้นผิวก้อนกรวด ปรากฎว่า เจ้าน้ำตาลเข้มดันไปติดหล่มนิดนึง ล้อหมุนฟรี เราขยับรถกันหลายต่อหลายรอบ ก็ดันรถไม่ขึ้น ผมจึงตัดสินใจหมุนสวิชต์ไปที่โหมด 4Lo แล้วค่อยๆละเลียดคันเร่งเบาๆ ขยับพวงมาลัยซ้าย - ขวาอีก 2-3 ที รถก็พ้นจากหล่มตรงนั้นขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย
เบรกมือ เป็นแบบยกขึ้น อยู่ข้างลำตัวผู้ขับขี่ เหมือนรถเก๋งทั่วไปในสมัยนี้
ถ้าจะถามกันว่า "มันแรงมากไหม?"

ผมไม่แน่ใจว่า คำว่าแรง ของคุณผู้อ่านหนะ ต้องเป็นอย่างไร แต่ถ้าผมจะบอกว่า หลังจากจับเวลากันแบบสั้นๆ ขำๆ ในระยะ 80 - 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั่ง 2 คน มีผม และ สต๊าฟของทาง GM Thailand อีก 1 ท่านในสภาพอากาศช่วงบ่าย และคาดว่าน้ำมันที่ใช้น่าจะเป็น Diesel Techron ของ Caltex (เพราะ GM บ้านเราใช้ Fleet Card ของ Caltex อยู่) ยังทำตัวเลขออกมาได้ 9.02 วินาที....

ถ้าเทียบกับ Toyota Hilux Vigo 2.5 VNT Turbo Pre Runner 144 แรงม้า (PS) เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ซึ่งทำตัวเลขได้ 8.19 วินาที ด้วยเกียร์ 4 หรือจะเป็น Mazda BT-50 2.5 ลิตร Turbo 143 แรงม้า (PS) เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ทำได้ 8.72 วินาที หรือรุ่น 3.0 ลิตร Turbo เกียร์ธรรรมดา 5 จังหวะ ทำได้ 7.69 วินาที คุณอาจจะรู้สึกเหมือนว่า Colorado ช้ากว่า

แต่อย่าลืมสิครับว่า Colorado คันที่เราลองขับ เป็นเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ซึ่งตัวเลขหนะ ยังไงๆ รถเกียร์อัตโนมัติ ก็คงต้องด้อยกว่าเกียร์ธรรมดา กันอยู่แล้ว และถ้าจะให้แฟร์ ก็คงต้องเทียบกับรถเกียร์อัตโนมัติด้วยกัน ตัวเลขที่เราเก็บเอาไว้ก็คงจะมี Mitsubishi Triton 3.2 ลิตร Turbo 165 แรงม้า (PS) เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ซึ่งทำตัวเลขได้ 10.80 วินาที หรือจะเป็นรุ่น Triton PLUS 2.5 Turbo เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะทำได้ 11.07 วินาที 

ทีนี้คุณจะยังมองว่า Colorado อืดอยู่อีกไหม?

สำหรับผม มองว่า ไม่อืดเลย อัตราเร่งใช้ได้ เพียงแต่ว่า บุคลิกของรถที่คุณจะพบได้ คือ จากจุดหยุดนิ่ง Colorado 2.8 จะค่อยๆไต่ความเร็วขึ้นไปอย่าง สุภาพ Smooth ก่อนจะเริ่มสัมผัสได้ว่ามีแรงดึงแผ่นหลังให้ติดเบาะ ในช่วงพ้นจาก 2,000 จนถึง 3,500 รอบ/นาที อย่างชัดเจนขึ้น ก่อนจะเริ่มไปตัดเปลี่ยนเกียร์ในตำแหน่งสูงขึ้นให้เอง ช่วงแถวๆ 4,000 รอบ/นาที นิดๆ 

บุคลิกแบบนี้ ชวนให้ผมนึกถึง นิสัยการออกตัวของ Chevrolet Cruze 2.0 LTZ Diesel Common Rail เป็นที่สุด ช่างคล้ายกันมาก ราวกับโขลกออกมาจากแม่พิมพืเดียวกันเลยเชียวแหละ!

ไม่เพียงแค่บุคลิกของอัตราเร่ง จะช่างคล้ายคลึงกับ Chevrolet Cruze หากแต่การตอบสนองของคันเกียร์อัตโนมัติ ก็ช่างเหมือนกันเป๊ะกับ ทั้ง Cruze และ Captiva อะไรเช่นนี้!?  ทันทีที่คุณผลักคันเกียร์ไปยังโหมด บวก - ลบ คุณจะพบว่า เกียร์จะขอใช้เวลาราวๆ 1 วินาที ในการหาวนอน ไปพร้อมกับคิดว่า ตนจะทำอย่างไรกับชีวิตต่อไป ก่อนจะค่อยเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำให้ตามที่ผู้ขับขี่ต้องการ

ผมเริ่มตั้งข้อสงสัยขำขำเป็นการส่วนตัวแล้วว่า ทำไมคันเกียร์ และสมองกลเกียร์ของ รถยนต์ในตระกูล Chevrolet บ้านเรา มันถึงได้มีนิสัยการตอบสนองที่ช่างเหมือนกันราวกับโขลกออกมาจากแม่พิมพ์เดียวกันได้ถึงขนาดนี้ ชวนให้สงสัยมากๆเลยว่า ฝรั่งคนที่เซ็ตโปรแกรมสมองกลเกียร์ น่าจะเป็นชายร่างหมี ผิวขาวชาวอเมริกัน พันธุ์ Nerd ที่ปกติ ไม่ใช้คนที่สนุกกับการขับรถเท่าไหร่แน่ๆ เพราะบุคลิกของคันเกียร์ เหมือนกับบุคลิกของคนประเภทนี้ แทบจะไม่ผิดเพี้ยน 

เลยอยากจะลองแนะนำทาง GM ดูว่า ถ้าให้วิศวกรที่ชอบขับรถ และสนุกกับการขับรถ มาช่วยเซ็ตโปรแกรมสมองกลเกียร์ให้ไวขึ้น เชื่อแน่ว่า คันเกียร์จะตอบสนองต่อผู้ขับขี่ได้ดีกว่านี้ ในแทบทุกรุ่น เพราะอันที่จริงหากต้องการเรยกอัตราเร่งแซงมาใช้อย่างเร่งด่วน จาก Colorado 2.8 ลิตร ใหม่ คุณก็แค่เหยียบคันเร่งลงไปราวๆ 1 ใน 3 ถ้าความเร็วยังไม่สูงนัก หรือ เหยียบสัก 2 ใน 3 ถ้าความเร็วของรถ อยู่ในช่วงเดินทางระดับ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพียงเท่านี้ เกียร์จะถูกเปลี่ยนลงไปยังตำแหน่งเกียร์ต่ำกว่าให้อย่างรวดเร็วกว่าการไปผลักเปลี่ยนเกียร์ ที่คันเกียร์โดยตรงเสียอีก แสดงให้ผมยิ่งเชื่อมั่นเข้าไปใหญ่เลยว่า เกียร์หนะ ไม่ได้โง่ แต่ควรเปลี่ยนคนเซ็ตสมองกลเกียร์ดู เผื่อการตอบสนองของคันเกียร์จะดีขึ้น
พวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฮโดรลิกช่วยผ่อนแรง ถูกปรับเซ็ตมาใหม่ และให้การตอบสนองที่ดีขึ้นมาก ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะถอยหลัง หรือเข้าจอดนี่ แทบจะทำให้นึกถึงพวงมาลัยของรถยนต์นั่งจากยุโรป ที่ยังใช้พวงมาลัยเพาเวอร์ไฮโดรลิก และปรับเซ็ตมาหนืดนิดนึง เป็นพวงมาลัยที่ถูกปรับแต่งมาเพื่อเอาใจคนชอบขับรถชัดๆ และคุณสุภาพสตรีบางคน อาจจะรู้สึกว่ามันหนืดและหนักไปนิด (ไม่มากเลย) แต่สำหรับผม มองว่า รถกระบะในบ้านเรา เวลาวิ่งทางไกล ค่อนข้างเร็ว การได้พวงมาลัยที่มีความหนืดอย่างเหมาะสมอย่างนี้ จะช่วยรักษาเสถียรภาพของตัวรถขณะใช้ความเร็วสูง ได้อีกทางหนึ่งการบังคับทิศทาง เป็นไปค่อนข้างดีในแบบที่รถกระบะทั่วไปควรจะเป็น คือมีระยะฟรีไม่มากไม่น้อยจนเกินไป มีความหนืด และน้ำหนักที่เหมาะสมต่อการควบคุม และไม่ไวเกินไป แต่ต้องมั่นใจได้ถ้าจำเป็นต้องมุดไปอย่างรวดเร็ว เพื่อทำเวลา
ระบบกันสะเทือนหน้าแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น ด้านหลัง เป็นแหนบ ในรุ่นที่เราลองขับนั้น จะใช้แหนบ 3 ชั้น ( Leaf Spring) รูปครื่งวงรีใช้วัสดุทำด้วยเหล็กกล้า พร้อมโช้กอัพแก็ส จาก Kayaba (KYB) เน้นความนุ่มนวล

ด้วยความอยากรู้ว่า การเกาะถนนบนพื้นแห้งจะเป็นอย่างไร ผมก็เลยตัดสินใจพา เจ้าน้ำตาลมุ่งหน้าออกจากโลตัส บางนา ราม 2 ไปตามทางหลวงสาย บางนา - บางปะอิน เพื่อจะไปออกมอเตอร์เวย์ และเลี้ยวเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ กลับไปยังถนนบางนา - ตราดอีกครั้ง เพียงเท่านี้ ก็เป็นเส้นทางที่ยาวพอให้เรียนรู้การตอบสนอง ของช่วงล่างรถรุ่นใหม่ ขณะเดินทางไกล บนถนนลาดยางมะตอยได้แล้ว

สิ่งที่น่าประทับใจมาก ของ Colorado ใหม่ก็คือ ในช่วงที่ต้องขึ้นสะพานโค้งรูปเคียว ที่จะต้องหักซ้าย 90 องศา แล้วต่อเนื่องด้วยโค้งขวา 180 องศา ที่มีช่วงกว้างของโค้งอยู่ในระดับหนึ่ง ผมสามารถพา รถรุ่นใหม่นี้ เข้าโค้งดังกล่าวด้วยความเร็ว 80 - 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามมาตรวัดได้ โดยที่ระบบกันสะเทือน ยังคงสะท้อนอาการขึ้นมาว่า "เอาเลยเจ้านาย อัดเข้าโค้งได้มากกว่านี้อีก ถ้าคิดว่าตัวเองไหว!"

คือตัวผมหนะ ไหว ตัวรถเอง ยังไงก็ไหว แต่เจ้า Bridgestone Dueler HT (High Terrain) อันเป็นยางที่ติดมากับรถคันนี้ ทั้ง 4 เส้น มันบอกกับเราว่า "ผมพยายามเต็มที่แล้วครับพี่ แต่มันฝืนน้ำหนักตัวของมัน ที่ถูกถ่ายเทมายังด้านใดด้านหนึ่งหนักๆ ได้อีกแค่นิดเดียว ผมก็แทบจะปลิ้นหลุดออกมาจากกระทะล้อแล้ว!"

ถ้าจะเล่นโค้งหนักจริงๆ ยังไงๆ ตัวรถหนะเอาอยู่ครับ แต่ปัจจัยที่อาจทำให้รถหลุดการควบคุมได้ ก็คงเป็นเรื่องยางติดรถยนต์ ซึ่งโดยปกติ ยางตัวนี้ จะถูกออกแบบมาให้วิ่งใช้งานได้ดีบนพื้นถนนเรียบ เป็นหลักแต่แน่นอนว่า การออกแบบเผื่อเรื่องการเข้าโค้งหนักๆนั้น คงไม่อาจทำได้ดีนัก ตามประสายางแก้มหนาพอๆกับโดนัท Krispy Kream กัดเข้าไปนุ่มหนึบประมาณไหน ช่วงล่างของเจ้า Colorado ใหม่ ก็ใกล้ๆ ประมาณนั้นนั่นละ ต่างกันไม่เยอะนัก

แน่นอนครับ มันดีกว่า Colorado รุ่นก่อนหน้านี้ชัดเจน! การซับแรงสะเทือนต่างๆ บนถนนราดยางมะตอยทำได้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม เพราะในขณะที่รุ่นเดิม ติดแนวนิ่มๆ โยนๆ หน่อยๆ มาจาก Isuzu D-Max รุ่นแรกแต่ Colorado ใหม่ จะหนึบแน่น มั่นใจได้มากกว่า อาการโยนตัวลดน้อยลงจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด

เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่า ในบางช่วงเมื่อเจอคอสะพานที่มีระดับสูง - ต่ำ เหลื่อมกันเล็กน้อย ตัวรถจะมีอาการสะเทือนเล็กๆ พอให้จับได้ว่า นี่ยังคงเป็นรถที่สร้างขึ้นในรูปแบบ Body On Frame อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานของรถกระบะทั่วไปที่พึงเป็นกันมาช้านานทั่วโลก ตั้งแต่ยุคโบราณกาล อยู่ดี
ระบบห้ามล้อของ Colorado ใหม่ เป็นแบบ หน้าดิสก์เบรก หลังดรัมเบรก อันเป็นรูปแบบมาตรฐานของรถกระบะในบ้านเรา แต่สิ่งที่ทำให้ Colorado แตกต่างออกไปจากเพื่อนพ้องร่วมตลาดนั้น อยู่ที่การติดตั้งดิสก์เบรกหน้า และดรัมเบรกหลังให้มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ โดย จานเบรกหน้ามีเส้นผ่าศูนย์กลาง 300 มิลลิเมตร ส่วนดรัมเบรกหลังมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 295 มิลลิเมตร

นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งระบบตัวช่วยในด้าน Active Safety ไม่ว่าจะเป็นระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-LockBrake System) ระบบกระจายแรงเบรก EBD ระบบช่วยเพิ่มแรงเบรก Hydraulic Brake Assist (HBA) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Panic Brake Assist (PBA) ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ESP) ระบบควบคุมการลื่นไถลของล้อ Traction Control System (TCS) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี Limited Slip และทีเด็ดที่ไม่มีในคู่แข่งรายอื่น นั่นคือ การติดตั้งระบบช่วยเบรกในขณะเข้าโค้ง Conering Brake Control (CBC) เทคโนโลยีที่เคยมีอยู่ ในรถยนต์ระดับหรู อย่าง BMW ติดตั้งเป็นรายแรกในรถกระบะเมืองไทย

การตอบสนองของระบบเบรก บนพื้นถนนแห้ง แม้จะชะลอและหน่วงความเร็วของรถลงมาได้ในแบบที่รถกระบะยกสูง ซึ่งมีน้ำหนักตัวมากควรจะเป็นกัน แต่ก็ไม่ได้มีอะไรเด่นหรือด้อยแต่อย่างใด จัดว่าอยู่ในระดับปานกลางและค่อนข้างดี ทันทีที่เหยียบแป้นเบรกลงไป จะเหยียบแค่ไหน การตอบสนองของระบบเบรก ก็จะเป็นไปตามเท่าที่ผู้ขับเพิมน้ำหนักเท้าลงบนแป้นเบรก มีความ Linear ดี เพียงแต่ว่า เมื่อเหยียบจนถึงกึ่งกลางระยะเหยียบของแป้นหรือเกินกว่านิดหน่อย ดุเหมือนว่า เบรกจะจับแน่นมากขึ้น ถ้าเปรียบเป็นกราฟ น่าจะได้กราฟแบบที่หัวลูกศรค่อยๆทะยานขึ้นช้าๆอย่างต่อเนื่อง จนถึงระดับกึ่งกลางของตาราง จู่ๆ ก็พุ่งปรี๊ดขึ้นไปดื้อๆ

ถ้าจะอธิบายให้ง่ายกว่านั้น แป้นเบรกจะให้สัมผัสที่เหมือนกับคุณกำลังนั่งเครื่องบินที่ค่อยๆทะยานขึ้นจากสนามบินสุวรรณภูมิอย่างต่อเนื่อง แล้วจู่ๆ กัปตัน ก็พาคุณเชิดหัวขึ้นเกือบจะตั้งฉากกับพื้นโลกราวกับกำลังนั่งอยู่ในเครื่องบินขับไล่ แทนที่จะเป็นสายการบินพาณิชย์ทั่วไป นั่นเอง

เรื่องนี้ ต้องเก็บเอาไว้ลองกันอีกทีใน Full Revierw ว่า แต่ละรุ่น แต่ละคัน จะมีนิสัยของระบบเบรกแบบเดียวกันนี้เหมือนเช่นที่ผมเล่าให้อ่านไปข้างต้นหรือไม่
********** สรุป (เบื้องต้น) **********
***ดีขึ้น และน่าใช้ขึ้นทั้งคัน สู้กับเจ้าตลาดไหวหรือไม่ ต้องให้ลูกค้าตัดสิน***


ตอนที่คืนกุญแจให้กับทางเจ้าหน้าที่ของ GM นั้น ผมไม่รู้สึกติดค้างอะไรในใจมากนัก ผิดจากรถหลายๆคันที่เคยเจอมา ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นไปตามที่ผมคาดการณ์ไว้ เพียงแต่ ไม่คิดว่า บุคลิกของ Colorado รุ่นนี้ จะมีความคล้ายคลึงกับ Chevrolet Cruze ให้ได้สัมผัสกันอยู่บ้าง

การเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคัน แบบไม่เหลือเค้าโครงเดิมให้เห็นจากภายนอกเลยของ Chevrolet Colorado ในครั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ทีมของ GM ทำการบ้านมาดีมากๆ และเลือกที่จะปรับปรุงรถกระบะของพวกเขา จากรถที่ดูไม่มีจุดเด่นอะไรมากนัก เมื่อเทียบกับชาวบ้านชาวช่อง ให้มีคุณสมบัติที่ดีพร้อม ทั้งเรื่องของสมรรถนะการขับขี่ ความสบายในการเดินทาง ระบบกันสะเทือน เครื่องยนต์ ระบบบังคับเลี้ยว และระบบห้ามล้อ และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คืองานออกแบบที่พลิกโฉมจากความบึกบึนในแบบเดิมๆ สู่การออกแบบในสไตล์ใหม่ ที่ดูร่วมสมัยแต่ยังคงมีเอกลักษณ์ในแบบที่ทุกคนยังชื่นชอบ ก็ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นไปหมดในแทบทุกส่วน

ที่สำคัญคือ ไม่ว่าคุณจะเปรียบเทียบกับรถรุ่นเดิม หรือรถของคู่แข่ง Colorado ใหม่ ก็ยังเป็นรถที่มีจุดเด่นหลายอย่าง มากพอจะดึงดูดใจใครก็ตามซึ่งกำลังมองหารถกระบะ ให้เดินเข้าโชว์รูม Chevrolet ทั้งเกือบ 100 แห่งทั่วเมืองไทยได้สบายๆ
ปัญหาที่เหลือจากนี้ก็คือ แล้วพนักงานขาย ฝ่ายบริการซ่อมบำรุง ของแต่ละโชว์รูมผู้จำหน่าย จะทำงานร่วมกันเพื่อช่วยผลักดันภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ Chevrolet ให้นั่งอยู่ในใจของลูกค้าได้มากน้อยแค่ไหน เพราะในช่วงที่ผ่านมา ลูกค้า Colorado รุ่นเก่า ที่ประทับใจก็มี ที่ไม่พึงพอใจ กับปัญหาการเคลมชิ้นส่วนบางอย่างซึ่งทำไม่ได้ ทั้งที่ Isuzu เขายอมให้เคลม ก็มีไม่น้อย อีกทั้ง ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ ซึ่งในอดีตก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายพอสมควร มาวันนี้ พวกเขาพยายามทำงานกันให้ดีขึ้น แต่จะดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน ยังต้องรอการพิสูจน์ จากลูกค้าใหม่ๆ ที่ไม่เคยสัมผัสแบรนด์ Chevrolet มาก่อน

โอกาสที่ Colorado จะพาลูกค้าหน้าใหม่เหล่านี้ มาหาที่โชว์รูม มีมากแล้ว ก็คงได้แต่ขอฝากกับผู้เกี่ยวข้องไว้ด้วยว่า ช่วยกันทำหน้าที่ ด้วยใจ ต้อนรับลูกค้าอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่กำลังตัดสินใจจะเลือกซื้อ หรือช่วงตัดสินใจออกรถ ไปจนถึงช่วงตัดสินใจเลือกเข้าศูนย์บริการ ฝากผีฝากไข้กัน ขอให้ดูแลลูกค้าดีๆ อย่าทำให้ลูกค้าอึดอัดใจ เท่านี้ ยอดขายที่ตั้งใจ ก็จะเกิดขึ้นได้โดยฉลุย

หน้าที่ของผม ยังไม่จบลงตรงนี้ สำหรับ Colorado เรายังมีรุ่นย่อยอีกหลายรุ่น ที่จะต้องนำมาทดลองขับจับอัตราเร่ง ทำการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ตามมาตรฐานของ Headlightmag.com กันอีก ซึ่งก็คงต้องรอให้สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ลดลงไปเสียก่อน

เมื่อถึงเวลานั้น เราจะมาดูกันอีกทีว่า ประสบการณ์ 100 ปีที่ GM และ Chevrolet สั่งสมมา จะช่วยให้พวกเขามีรถกระบะ ที่เหนือกว่าคู่แข่ง มากพอจะต่อสู้กับสถานการณ์ตลาดรถกระบะในเมืองไทย ที่รุนแรง หนักหน่วงทั้งด้วยกลไกของตัวมันเอง และจากปัจจัยที่ยากจะหลีกเลี่ยงอย่างอุทกภัยครั้งล่าสุดนี้ ได้หรือไม่

ไว้ถึงตอนนั้น เราก็จะรู้กัน!

TOYOTA REVO 2.4 G 2017 Price 689,000 baht

TOYOTA REVO 2.4 G 2017 💰💰 Price 689,000 Baht 💰💰 Use car money out 10,000 installments 12,629 x 72 *** Attached wit...